ข้อมูลโครงการ
โครงการ: การพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบการขนส่งและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อแบบเรียลไทม์
Project: Development of a real time monitoring system for infectious waste transport and disposal

หน่วยงานหลัก

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

126 ถ. ประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 10140

โทรศัพท์: 02-470-8000


หน่วยสนับสุน

สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย

ที่อยู่ 88/22 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง

จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000

โทรศัพท์: 02 590 4128, 02 590 4655


ที่มาและความสำคัญ

ในปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลได้กำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการ เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากการตกค้าง สะสมของขยะมูลฝอย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการ กำกับ ติดตาม ตรวจสอบมูลฝอยติดเชื้อทั้งระบบ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อไปจนถึงแหล่งกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาโรคอุบัติใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำ (emerging or new infectious disease) ที่ร้ายแรง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนที่สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ การครองเตียงที่นานขึ้น ส่งผลให้อัตราการเกิดมูลฝอยติดเชื้อในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ปี 2564 ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจะมีประมาณ 61.3 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากปี 2562

ดังนั้นการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพจากทั้งแหล่งกำเนิด ระหว่างการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อที่ขนส่งโดยพาหนะ และแหล่งกำจัด ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถรองรับมาตรการการลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากมูลฝอยติดเชื้อไปสู่มนุษย์ได้ กรมอนามัยได้เสนอแนวทางในการพัฒนาระบบบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ โดยการใช้เทคโนโลยี ข้อมูล หรือเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อตลอดห่วงโซ่ กล่าวคือ ทั้งจากแหล่งกำเนิด ระหว่างการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อไปยังแหล่งกำจัด โดยสามารถเก็บข้อมูลปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดและแหล่งกำจัดแบบเรียลไทม์ เส้นทางการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดไปยังแหล่งกำจัด ซึ่งนำไปสู่การติดตาม การวิเคราะห์ และวางแผนการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้เหมาะสม และเพียงพอต่อการรองรับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับระบบการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อดังกล่าว เทคโนโลยีด้านประมวลผลภาพ (Image Processing) และเทคนิคการรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) จะนำมาประยุกต์ใช้ในการเก็บปริมาณมูลฝอยติดเชื้อซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องชั่งรุ่นต่างกันๆ ได้ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทดแทนการใช้เครื่องชั่งรุ่นเฉพาะที่ต้องใช้คู่กับอุปกรณ์การส่งข้อมูล ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บบน cloud โดยเครื่องชั่งและอุปกรณ์นี้มีราคาประมาณ 50,000 บาทต่อชุด อีกทั้งโปรแกรมที่ใช้ในการอ่านข้อมูลสามารถอ่านข้อมูลได้เฉพาะเจาะจงรุ่นของเครื่องชั่งนั้นๆ ไม่สามารถขยายผลไปยังเครื่องชั่งรุ่นอื่นๆ ได้ สำหรับการติดตามยานพาหนะขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information Systems, GIS) นำมาใช้ในการติดตามจากแหล่งกำเนิดไปยังแหล่งกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อลดการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อตามที่สาธารณะ สำหรับการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และรายงานผลอัจฉริยะ (Dashboard) แบบทันท่วงที (Real-time monitoring) นำมาประยุกต์ใช้ในโครงการนี้ โดยการแสดงผลจะแสดงปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดและแหล่งกำจัดที่ง่ายต่อความเข้าใจ ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำรายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลประกอบในการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งการมีสมการคณิตศาสตร์ที่สามารถพยากรณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปวางแผน บริหารจัดการล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการวิจัยนี้จึงประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและติดตามการขนส่งและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยสมาร์ทแอพพลิเคชั่น กิจกรรมที่ 2 ระบบวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลระบบควบคุมกำกับการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อแบบเรียลไทม์ และกิจกรรมที่ 3 จะนำข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมที่ 1 มาสร้างสมการพยากรณ์โดยผ่านกระบวนการ Data Pre-Processing และ Predictive modeling process และเมื่อได้สมการที่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว จะนำสมการดังกล่าวไปใช้งานโดยสามารถแสดงผลบน dashboard ร่วมกับกิจกรรมที่ 2 โดยพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานประกอบด้วย แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อได้แก่ โรงพยาบาลแม่ข่าย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร บริษัทขนส่งและแหล่งกำจัดมูลฝอยติดเชื้อได้แก่ บริษัทโชติฐกรณ์ จำกัด จังหวัดนครสรรค์

โดยผลผลิตที่คาดว่าจะได้จากโครงการนี้ได้แก่ 1. แอพพลิเคชั่นที่สามารถอ่านปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดและแหล่งกำจัด 2. แอพพลิเคชั่นสำหรับติดตามพาหนะขนส่ง ซึ่งสะดวกในการใช้งาน (user friendly) 3. รายงานผลอัจฉริยะ (dashboard) ที่แสดงปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดและแหล่งกำจัด 4. สมการที่สามารถพยากรณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อในอนาคต และ 5. ปริมาณข้อมูลมูลฝอยติดเชื้อที่มีจำนวนมากขึ้น (Big data) ส่งผลให้ในอนาคตสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปวิเคราะห์ (Big data analytics) ให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อต่อไปได้


กรอบแนวคิดของโครงการ
กรอบแนวคิดของโครงการ

เป้าหมายสำคัญของโครงการ

1) พัฒนาระบบตรวจสอบน้ำหนักและระบบติดตามการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ

2) พัฒนาระบบวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลสำหรับการขนส่งและการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อแบบเรียลไทม์ เพื่อนำไปประกอบการใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการปริมาณมูลฝอยติดเชิ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

3) สร้างสมการพยากรณ์ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ


คณะวิจัยและผู้มีส่วนร่วม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หน่วยงานหลัก

ติดต่อ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

สนับสนุน

ติดต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

หน่วยงานสนับสนุน

ติดต่อ